3 จานอาหารในลาว สะท้อนวัฒนธรรรมและประวัติศาสตร์


อาหารลาว

          อาหารเป็นผลิตผลจากวัฒนธรรมตามแต่ละแหล่งแห่งที่ สะท้อนถึงรากเหง้าทางความคิดและพื้นฐานทางวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นอาหารจึงนับเป็นหนึ่งในหลักฐานที่สะท้อนถึงการมีอยู่ของผู้คน วิถีชีวิต ประเพณี ที่แตกต่างกันตามแต่ละแหล่งอยู่อาศัย บริบททางประวัติศาสตร์และการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยน ในกรณีของลาว อาหารได้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ประสมประสานหลอมรวมจนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินของชาวลาว สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานการกินที่มาต้นรากมาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อชาวลาวด้วยเช่นกัน

          โดยอาหารลาวที่จะยกมากล่าวถึงในวันนี้ เป็นอาหารที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ รวมไปถึงวัฒนธรรมของชาวลาวได้เป็นอย่างดี

  1. เฝอ หรือ ข้าวเปียก นับเป็นอาหารที่มีต้นเค้าร่วมกับอาหารที่ชาวเวียดนามรับประทานกันในชีวิตประจำวัน โดยนำแป้งที่ทำมาจากข้าว มาทำเป็นเส้น ใส่น้ำซุปซึ่งมักต้มกับผักหรือเนื้อสัตว์เพื่อให้เกิดความหวานในตัวซุป และยังอาจนำเนื้อสัตว์ที่ต้มนั้นมาเป็นองค์ประกอบในเมนูได้อีก เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น การที่คนลาวกินเฝอหรือข้าวเปียกเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมการกินแบบเวียดนามได้เข้ามามีอิทธิพลต่อคนลาวเป็นอย่างมาก ซึ่งสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก
  2. บาเกต หรือ ขนมปังยัดไส้ อารมณ์คล้ายกับแซนวิชในวัฒนธรรมแบบตะวันตก สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าวัฒนธรรมการกินของชาวลาวได้รับอิทธิพลของชาวตะวันตกด้วย เนื่องมาจากบริบททางประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกันที่ลาว รวมไปถึงเวียดนามและเขมร ล้วนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นเวลานาน ส่งผลให้วัฒนธรรมการกินของชาวฝรั่งเศสส่งผ่านมายังพวกเขาด้วย โดยองค์ประกอบของบาเกต จะต้องทำมาจากขนมปังที่มีลักษณะยาวผ่ากลาง ยัดไส้ต่างๆไว้ภายใน โดยสามารถใส่ได้ทุกอย่างที่อยากกินตั้งแต่ไข่เจียวลามไปถึงใส่ไส้ไว้หลากหลายเพื่อเพิ่มเติมความอร่อย
  3. อาหารรวมมิตรที่หลวงพระบางราคา 15000 กีบ แม้จะไม่ได้เป็นอาหารที่สะท้อนความเป็นลาวอย่างชัดเจนแต่การเน้นอาหารที่มีความหลากหลายและกินได้ง่าย ก็สะท้อนภาพของวัฒนธรรมการกินสมัยใหม่ของลาวด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพื่อให้ถูกปากกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังหลวงพระบาง สามารถเลือกกินได้ตามใจชอบ แต่อีกส่วนหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงสังคมลาวในหลวงพระบางที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติเป็นหลักและยังสะท้อนให้เห็นถึงกระแสความนิยมในอาหารที่สอดรับกับคลื่นการท่องเที่ยวสมัยใหม่ที่เน้นความพิถีพิถันในการทำน้อยลง อันสะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินยุคใหม่ของชาวลาวที่อาจเปลี่ยนไปด้วย